คำกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ ๙

0

คำกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๕
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่างน้อมจิตตั้งมั่นเพื่อร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปวงพสกนิกรทั่วราชอาณาจักร ต่างประจักษ์ซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตา ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ทั่วราชอาณาจักรด้วยทศพิธราชธรรม โครงการในพระราชดำริและพระราชกรณียกิจนานัปการ ที่ทรงทุ่มเทกำลังพระสติปัญญาและพระวรกาย ทรงออกเดินทางไปทั่วผืนแผ่นดินไทยอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงพสกนิกร ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างอเนกอนันต์แก่ประเทศชาติ พระเกียรติคุณแผ่ไพศาลขจรขจายไปทั่วทิศานุทิศ นับเป็นบุญของปวงข้าพระพุทธเจ้าและเหล่าพสกนิกรที่ได้มีชีวิตอยู่อย่างผาสุกร่มเย็นใต้ร่มพระบารมี

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขอนำเสนอพระราชกรณีกิจที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงปฏิบัติที่จังหวัดสกลนคร

1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มากที่สุดของประเทศ โดยมีพื้นที่ถึง 106.4 ล้านไร่ หรือ 170,218 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 33.1 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งประสบกับปัญหาหลักๆ 3 ประการ คือ ปัญหาเกี่ยวกับดิน เนื่องจากความสมบูรร์ของทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ แร่ธาตุต่างๆ ดินมีคุณภาพต่ำไม่สามารถอุ้มน้ำได้และมีความเค็ม ปัญหาด้านแหล่งน้ำและป่าไม้ แหล่งน้ำธรรมชาติมีไม่เพียงพอ ทำให้ดินขาดความชุ่มชื้น ส่งผลต่อการเพาะปลูกพืช มีการแผ้วถางป่าเพื่อการประกอบอาชีพจนทำให้แหล่งต้นน้ำลำธารและระบบนิเวศวิทยาถูกทำลาย ปัญหาด้านวิทยากร นอกจากปัญหาปัจจัยการผลิตการเกษตรข้างต้นที่ไม่พร้อมแล้ว ผลจากการขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะเทคนิควิชาการเกษตรที่ถูกต้อง การปรับปรุงบำรุงรักษาคุณภาพของปัจจัยการผลิตอย่างมีหลักวิชา เช่น เรื่องป่าไม้ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การแปรรูปผลผลิตและเรื่องการตลาด
จากสภาพภูมิประเทศ และทรัพยากร ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างไปจากภาคอื่น จึงมีการศึกษาถึงปัญหาสภาพท้องถิ่น หรือวิถีชีวิตของราษฎรเพื่อจัดหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับภาคอีสาน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์ฯ ด้วยตนเอง เพื่อเป็นพื้นที่ตัวแทนของภาคอีสานทั้งหมด ด้วยพื้นที่นี้มีลักษณะสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวงจรทางชีวภาพที่คล้ายคลึงกับภูมิภาคโดยทั่วไปของภาคอีสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ เพื่อเป็นแบบจำลองของภาคอีสานและเป็นพื้นที่ส่วนย่อที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อพัฒนาให้ภูมิภาคนี้เกิดความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

2. ทอดพระเนตรภูมิประเทศและทรงสำรวจทำเลสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านม่วง ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้งยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ไปทอดพระเนตรภูมิประเทศและแหล่งเก็บน้ำบริเวณบ้านม่วง ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร
นายล้วน การะสา ราษฎรบ้านม่วง เล่าให้ฟังว่า “…ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ไม่มีผู้ใดทราบมาก่อนเลย นายล้วน และราษฎรในหมู่บ้านเห็นจึงพากันมานั่งลงเฝ้าฯ รับเสด็จ ด้วยความตกใจและประหลาดใจยิ่ง เนื่องจากไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าพระองค์จะเสด็จฯ มาในถิ่นทุรกันดารเช่นนี้ ในวันนั้นพระหัตถ์ข้างซ้ายทรงถือแผนที่และทรงคล้องกล้องถ่ายรูป พระองค์ประทับยืนแล้วทรงนั่งลงพร้อมกับมีพระราชดำรัสถามนายล้วน การะสา ซึ่งวางตัวไม่ถูก ได้แต่ประนมมือไหว้ พระองค์ทรงเขียนลงบนพื้นดินเป็นรูปแผนที่…”

หลังจากนั้น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเคลิ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงถือกำเนิดขึ้น ยังความปีติยินดีแก่ราษฎรในละแวกนั้น

แชร์ :

แสดงความคิดเห็น